วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

ตะกร้อไทย

ประวัติความเป็นมา ของ ตะกร้อ


        คำว่า ตะกร้อ นั้น เป็นคำที่ไทยเราใช้กันมานานแต่โบราณ ท่านที่เคยอ่านกฎหมายไทยโบราณ คงจะจำกัน ได้ว่า การลงโทษ ในสมัยโบราณนั้น เคยเอาคนใส่ตะกร้อ (ลูกตะกร้อคงจะโตหน่อย) แล้วให้ช้างเตะเล่น ถ้าเราคิดกันเล่นๆ ว่า คนไทย สมัยโบราณนั้น เคยสานตะกร้อเอาคนใส่ให้ช้างเตะเล่นได้ ไฉนจะสานตะกร้อ เตะเล่นเองไม่ได้เล่า หรือ การที่สานตะกร้อ เอาคนใส่ให้ช้างเตะนั้น ได้ความคิดจากตะกร้อที่คนเตะเล่น ถ้าเป็นไปตามนี้ การเล่นตะกร้อ ก็มีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมี เมื่อพม่าเอามาเตะเล่นที่ค่ายโพธิ์สามต้น ถ้าไทยไม่ได้เอามาจากพม่า แล้วไทยเอามา จากที่ไหน ถ้าเอามาจากพม่าจริง ก็ควรจะเรียกอย่างพม่า คำว่า "ตะกร้อ" ไทยเราใช้มานานแล้ว ส่วนพม่า ไม่รู้จักคำว่า ตะกร้อ พม่าเรียกตะกร้อว่า ชินลง หมายถึง ตะกร้ากลมๆ ถ้าหากไทยเราไปเอาตะกร้อมาจากพม่า ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ก็คงจะถามพม่าบ้างว่า เขาเรียก ว่าอะไร พม่าก็คงจะบอกว่า ชินลง จึงมีเหตุผลที่ไม่แน่นอน
ทางมาเลเซีย ก็ได้ประกาศว่า ตะกร้อเป็นกีฬาของ ประเทศมลายูเดิม เป็นกีฬาของชาติ เขาเรียกตะกร้อว่า ซีปักรากา (Sepak Raga) คำว่า Raga หมายถึง ตะกร้า ก็คงเข้าแบบพม่านั่นเอง
ส่วนทางฟิลิปปินส์ นั้นเรียกว่า Sipak ก็ใกล้กันมาก
คำว่า ตะกร้อ ตามพจนานุกรม มีความหมายว่าเป็น "ของเล่นชนิดหนึ่ง สานด้วยหวายสำหรับการเล่น เตะเล่น บางอย่าง ทำด้วย หนังปักพู่ขนไก่"
       เฟรเดอริค อาร์เธอร์ นีล เขียนหนังสือเรื่อง "Narrative of a Residence in Siam" พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1852 ได้พูดถึงการ เตะตะกร้อ ชนิดที่เป็นลูกหนังปักขนไก่ มีภาพเขียนเป็นคนไว้ผมจุก หรือหางเปีย ล้อมวงเตะตะกร้อชนิดนี้อยู่ ฉะนั้น คนที่เตะตะกร้อลูกหนังนั้น ก็ไม่ใช่คนไทย เห็นจะเป็นคนจีน ตะกร้อลูกหนัง ปักขนไก่ ที่คนจีนเตะนั้น ก็สมควรแล้ว เพราะคนจีนเล่นที่เมืองจีนมาแต่โบราณ ท่านที่เคย อ่านพงศาวดารจีน เรื่อ ซุยถัง มาแล้ว คงจะเคยอ่านผ่านพบเรื่อง เตะตะกร้อ
ชาวจีนกวางตุ้ง ที่เข้าไปอยู่ในอเมริกา ได้เล่นตะกร้อขนไก่นี้เหมือนกัน เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า เตกโก (T'ek k'au) ซึ่งหมายถึง การเตะลูกขนไก่
ที่เกาหลี มีการเตะลูกขนไก่ หรือ ตะกร้อจีน นี้เหมือนกัน แต่ลูกตะกร้อผิดแปลกไปบ้าง คือ ของเกาหลี ใช้ดิน หรือ ขี้เถ้า ห่อด้วยผ้าสำลี เอาหางไก่ฟ้าปัก รูปร่างคล้ายหัวหอมตอนที่ยังมีใบ พวกเกาหลีที่มีบ้าน หรือร้านขายของ อยู่ตามริมถนน มักจะเล่นเตะตะกร้อขนไก่ตามถนน เพื่อให้เท้าอบอุ่น เป็นเรื่องแก้หนาว ไม่ใช่เล่นเป็นกีฬามีศิลปะ แบบของไทย คำเรียก ก็เอามาจากภาษาจีนอีกเหมือนกัน เพราะจีนกับเกาหลี ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมให้กันไว้มาก
      ทางภาคใต้ของไทย ก็มีการเล่นตะกร้อขนไก่ด้วยเหมือนกัน คือที่ จังหวัด นราธวาส ยะลา ปัตตานี แต่ลูกตะกร้อ จะไม่เหมือนของจีน หรือเกาหลีนัก คือใช้หนังวัวหรือหนังควาย ขนาดกว้าง 4 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว พับสองให้ปลายต่อกัน ที่จุดกึ่งกลางพอดี แล้วตัดหนังขนาดพอที่จะผูกขนไก่ 10 - 20 ขน (ใช้ขนไก่ตัวผู้) ต่อจากนี้ ก็เจาะหนังแผ่นใหญ่ ที่พับปลายต่อกันนั้น เอาหนังแผ่นเล็กที่จะผูกขนไก่ร้อยเข้าไป หนังแผ่นเล็กนี้ จะทำหน้าที่สองอย่าง คือยึดแผ่นหนัง ให้ต่อกัน และยึดขนไก่ไว้ด้วย
ตะกร้อมลายู ในชั้นเดิม เห็นจะทำด้วยหนังวัวควายมาก่อน ต่อมาจึงได้ใช้หวายตะกร้อ ซึ่งเบากว่า มาใช้ทำตะกร้อ แบบไทยเรา ต้นกำเนิดของตะกร้อ จะมีมาอย่างไร ยังไม่พบรายละเอียดที่น่าพอใจ ตะกร้อที่ทำด้วยหวาย มีการเล่นกัน อยู่ในเวลานี้ ก็มี พม่า ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และที่น่าสนใจก็คือ พวก ไดยัค บอร์เนียว ก็มีตะกร้อหวายเล่น วิธีเล่นก็ แบบเดียวกับไทย ฉะนั้น การที่จะกำหนดว่า ใครเป็นต้นคิดนั้น เห็นจะยาก
       การเล่นตะกร้อ ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ ในสมัยแรกเริ่ม อาจจะเตะเลี้ยงเพียงไม่ให้ตกดินก่อน ต่อมาพลิกแพลง ใช้ศอก ไหล่ และ ศีรษะ มีลูกไขว้ เพิ่มขึ้นภายหลัง จึงได้มี การเตะตะกร้อลอดบ่วง ตะกร้อข้ามตาข่าย (ทางมลายูว่า เริ่มมี ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ. 1946) มีผู้สันนิษฐานว่า ตะกร้อข้ามตาข่ายแบบไทย คงจะดัดแปลง มาจาก การเล่นกีฬาแบดมินตัน ของฝรั่งทางตะวันตก ส่วนตะกร้อข้ามตาข่าย แบบเซปัค คงดัดแปลงมาจาก กีฬาวอลเล่ย์บอล การติดตะกร้อ คือ การเตะตะกร้อให้ขึ้นไปติดค้าง อยู่บนศีรษะ บนไหล่ บนแขนได้หลาย ๆ ลูก ก็เป็นความนิยมกันอยู่ สมัยหนึ่ง ประมาณในสมัยราชกาลที่ 7 มีคนเอาไปเล่นที่อเมริกา ฝรั่งนิยมชมชื่นกันมาก ถึงกับขอซื้อตะกร้อ เอาไปหัดเล่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น